"ไพบูลย์"แจงยิบร่างแก้ไข รธน.กลับไปใช้บัตร ลต. 2 ใบ

2021-04-02 15:20:35

"ไพบูลย์"แจงยิบร่างแก้ไข รธน.กลับไปใช้บัตร ลต. 2 ใบ

Advertisement

"ไพบูลย์"แจงยิบร่างแก้ไข รธน.ฉบับ พปชร. 5 ประเด็น 13 มาตรา ยื่น “ชวน” 7 เม.ย. กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ  เล็งเสนอเปิดประชุมร่วมรัฐสภา 25 พ.ค. คาดปลาย ก.ค.ฉลุยวาระ 3 

"ลูกจ้าง"เฮลั่นถูกรางวัลที่ 1 รับทรัพย์ 12 ล้าน

หนีไม่พ้นแล้ว “โยกเยก” ควงภรรยาจดทะเบียนสมรสชื่นมื่น หลังวิวาห์มาปีกว่า

เมื่อวันที่ 2เม.ย. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงถึงความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนของพรรคพลังประชารัฐว่า ขณะนี้ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยได้ลงนามรายชื่อทั้งหมดครบแล้ว และจะยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ โดยประเด็นที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในระหว่างที่เป็นกรรมาธิการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จนความคิดเห็นตกผลึกในรายมาตรา จนยกร่างออกมาเป็นญัตติดังกล่าว 5 ประเด็นใน 13 มาตรา

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียด สรุป 5 ประเด็นมีดังนี้ ประเด็นที่ 1. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพแก้ไขมาตรา 29,41 และ 45 เป็นการเพิ่มสิทธิในกระยวนการยุติธรรมซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 8 อนุมาตราในมาตราที่ 29 และเพิ่มให้ชุมชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเดิมในมาตรา 41 เขียนให้มีการฟ้องร้องเฉยๆ แต่ชุมชนไม่ทราบว่าจะฟ้องร้องอย่างไร จึงต้องเขียนเพิ่มให้ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองในขณะนี้ทุกพรรคมีปัญหาการทำไพรมารี่โหวต ดังนั้นได้เพิ่มการแก้อุปสรรคการทำงานของพรรคการเมือง จึงแก้ไขมาตรา 45 โดยนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 47 มาใช้แทน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งมาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และมาตรา 94 โดย1.แก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบบัตรสองใบ ซึ่งจะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 และให้ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งมีการแก้ไขให้การประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ให้ประกาศผลภายใน 60 วัน ก็จะแก้ให้มีการประกาศผลภายใน 30 วัน 2.ให้พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขตเลือกตั้ง จึงมีสิทธิที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นส่งแต่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มีหลายพร้อยพรรคการเมือง เมื่อแก้ประเด็นนี้แล้วจะทำให้เหลือเพียงพรรคการเมืองหลาย 10 พรรคที่เข้าหลักเกณฑ์ 3.ให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคะแนนเพื่อหาสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งประเด็นนี้เพื่อไม่ให้มีส.ส.ปัดเศษ และ4.เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.แบบแบ่งเขต ภายใน 1 ปี ไม่มีการคำนวนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 เสนอแก้ไขมาตรา 144 การพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหากระทบต่อการหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องการจัดทำงบประมาณ จึงได้เอาข้อความตามรัฐธรรมนูญปี50 มาตรา 168 วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด วรรคแปด และวรรคเก้า มาใช้แทน ประเด็นที่ 4 การแก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของส.ส.และส.ว.ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน ถ้าประชาชนเดือนร้อนจะขอร้องให้ส.ส.หรือส.ว.ติดต่อราชการทำไม่ได้ เพราะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 185 โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 114 มาใช้แทน และประเด็นที่ 5 แก้ไขบทเฉพาะการ มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาให้เป็นอำนาจรัฐสภาจากเดิมให้อำนาจ ส.ว.เพียงฝ่ายเดียว จึงเปลี่ยนให้เป็นอำนาจรัฐสภาเพื่อให้ส.ส.และส.ว.มีอำนาจติดตามและเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและการจัดทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

“พรรคพลังประชารัฐมีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นกับประชาชนและไม่มีความขัดแย้งรวมทั้งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะให้เสียในการทำประชามติ ที่สำคัญใช้เวลาน้อย ที่สำคัญคิดว่าในการยื่นแก้ไขในวันที่ 7 เม.ย.นี้ และจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ผมจะเรียนประธานรัฐสภาว่าขอให้มีการจัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 พ.ค.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคพลังประชารัฐเสนอเป็นวาระแรก ดังนั้นถ้าพิจารณาในวาระแรกได้ ในวันที่ 25 พ.ค. กรรมาธิการฯ คงจะพิจารณาใช้เวลาประมาณ1เดือนแล้วเสร็จปลายเดือนมิ.ย. และเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ที่ประชุมรัฐสภา ต้นเดือนก.ค. และวาระที่ 3 น่าจะกลางเดือนหรืออย่างช้าก็ปลายเดือนก.ค. ซึ่งคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพราะจากการพูดคุย ทาง ส.ว.ก็เห็นชอบด้วย ซึ่งไม่ต้องไปเสียงงบประมาณในการทำประชามติด้วย” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านหรือส.ส.ที่ต้องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาเนื้อหาตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ และเชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะเสนอญัตติคล้ายๆ กันเพื่อให้ได้รับการยอมรับร่วมกัน เพราะส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมรับในเนื้อหาที่เกินไปกว่า 5 ประเด็นที่นำเสนอ โดยเฉพาะข้อเสนอให้ตัดอำนาจของวุฒิสภา เกี่ยวกับการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา อย่างไรก็ตามญัตติที่เสนอ มีเพียงส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพียงพรรคเดียวที่ร่วมลงชื่อเพราะเรามีส.ส.120 คน สามารเสนอได้เลยทันทีหากมีส.ส.เกิน100 คน ส่วนที่ไม่ร่วมเสนอญัตติร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรคนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐมีความต้องการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ทั้ง 279 มาตรา สามารถที่จะเสนอแก้มาตราใดก็ได้ แต่สิ่งที่เสนอนั้นยืนยันว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลเพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนและไม่ใช่การชิงอำนาจรัฐ

นายไพบูลย์ กล่าวถึงเหตุผลของการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากจัดสรรปันส่วนผสม ไปเป็นการเลือกตั้งระบบปกติเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี2540 ว่า เป็นไปตามความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบอย่างไรก็ตาม ตนไม่คิดว่าการปรับระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างกัน ส่วนที่แก้ไขแล้วมีผลกระทบกับบางพรรคนั้น ส่วนตัวมองว่าต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.ที่ต้องการให้แก้ไขเนื้อหา

เมื่อถามว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้งจะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้าใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมจากประชาชนและความนิยมดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อรองรับการยุบสภาช่วงปลายปี 2564 นั้นตนไม่เชื่อว่าจะยุบสภาฯ เพราะรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมถึงปี 2565 อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการยุบสภา ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และส.ส.เข้าชื่อกันเพื่อยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา ซึ่งจากที่พูดคุยกับส.ส.พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่มีใครอยากยุบสภา ส่วนที่มีระบุว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วต้องยุบสภานั้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว และรัฐบาลไม่เคยระบุว่าต้องยุบสภา และไม่เคยได้ยินประเด็นนี้จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง