ก.คลังเตรียมเสนอรายละเอียด "โครงการเราชนะ"ให้ ครม.พิจารณา 11 พ.ค.
"มาดามชุบ" กลับมาแล้วพร้อม "อาลัวคุณไสย
แจกคนละ 2 พัน "เราชนะ-ม33เรารักกัน"
เช็กสิทธิ 5 มาตรการหลัก 9 โครงการช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. น.ส. กุลยา ตันติเตมิท ผอ.นักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในระลอกเดือน เม.ย. 2564 และเห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเราชนะจะได้นำเสนอรายละเอียดและแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมของโครงการให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 11 พ.ค. 2564 ต่อไป ขอเตือนให้ประชาชนได้ระมัดระวังข่าวปลอมในลักษณะของข้อความสั้น (SMS) หรือข้อมูลที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่อาจมีการฉวยโอกาสหลอกลวง โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการจากช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการจากทางราชการ ได้แก่ http://www.xn--b3c4a2a6ch6f.com/ www.mof.go.th www.fpo.go.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ "สถานีข่าวกระทรวงการคลัง" และ "สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง: Fiscal Policy Office”
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. กระทรวงการคลังได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ประกอบการในโครงการ ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เช่น การแลกวงเงินสิทธิ์เป็นเงินสด เพิ่มเติม จำนวน 2,744 ราย โดยผู้ประกอบการดังกล่าวที่ประสงค์จะชี้แจงโต้แย้งสามารถดาวน์โหลดเอกสาร “แบบฟอร์มเพื่อชี้แจงโต้แย้ง” ได้ที่เว็บไซต์ www.เราชนะ.com และจัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านทางไปรษณีย์มายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม. 10400 หรือทาง e-Mail: wewin@fpo.go.th ภายในวันที่ 14 พ.ค. 2564 หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการฯ และถูกตรวจสอบขยายผลสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังจึงขอความร่วมมือประชาชนในการรักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการณ วันที่ 6 พ.ค.2564 ดังนี้ 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 ก.ฑง 2564 เป็นต้นมา จำนวน 73,742 ล้านบาท 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการแล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา จำนวน 115,246 ล้านบาท 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2564 เป็นต้นมา จำนวน 15,243 ล้านบาท ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 204,231 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 24.9 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ