เสียงสะท้อนจากงานวิจัยจาก…เด็กชายขายบริการในไทยถึงหน่วยงานภาครัฐ “ถ้าเลือกได้ ก็อยากเลิกขายบริการ”
เราต่างเคยได้ยินข่าวตามโทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กชายในประเทศไทยหรือการค้าประเวณีในกลุ่มเด็กผู้ชาย เช่น แม่เล้าพาเด็กชายวัย 14 ปีขายบริการทางเพศกลุ่มรักร่วมเพศ มีลูกค้าทั้งชาวไทย-ต่างประเทศ หากเด็กไม่ยอมทำจะถูกทำร้ายร่างกาย หรือกรณีเด็กชายขายน้ำในยุคดิจิทัลที่เด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปีเสนอขายบริการทางเพศให้กับกลุ่มลูกค้าตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ปัญหานี้ซุกอยู่ใต้พรมในสังคมไทยมานาน แค่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เหตุผลส่วนใหญ่ที่เด็กชายเหล่านี้ต้องขายบริการ ก็เพื่อหาเงินให้ตนเองหลุดพ้นจากความลำบากยากจนของครอบครัว
“เราได้คุยกับเยาวชนชายไทยกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ 20 คน อยู่ในวงการขายบริการทางเพศ พบว่ามี 18 คนในกลุ่มต้องการที่จะเลิกทำอาชีพนี้ หากมีทางเลือกอื่นที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องของพวกเขาได้”
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์สำคัญของรายงานวิจัยเพื่อศึกษาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย ที่ถูกกล่าวถึงในงานเปิดตัวรายงานวิจัยดังกล่าว ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รายงานวิจัย เพื่อศึกษา “การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย รายงานประเทศไทย” โดยเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล - ECPAT International ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ทีมงานวิจัยได้สัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศที่เป็นเยาวชนชายในประเทศไทย ซึ่งขายบริการทางเพศอยู่ที่กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ รวม 20 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี เรียกว่า “กลุ่มความหลากหลายทางเพศ SOGIE” (SOGIE ย่อมาจาก ‘Sexual Orientation, Gender Identity and Expression’ (เพศวิถี, อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออก) พบว่า เกินกว่าครึ่ง เริ่มให้บริการทางเพศเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งมีค่าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยมีอายุน้อยที่สุดคือ 12 ปีเท่านั้น โดยการแลกเปลี่ยนทางเพศนั้น บางครั้งเพียงเพื่อต้องการที่พักพิง ต้องการความปลอดภัย หรือเงินเพียงเล็กน้อย เหตุผลที่สำคัญที่พวกเขาเข้ามาสู่วงการนี้ คือ ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความแตกต่างของรสนิยมทางเพศ
Mark Kavenagh หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ ECPAT เล่าถึงงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ใช้เวลาศึกษานานกว่า 1 ปีครึ่ง ว่า “เด็กกลุ่มนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพราะอคติจากคนนอกที่ตัดสินว่า เด็กชายที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีความต้องการทางเพศเอง ทั้งที่จริงแล้ว เด็กต้องเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ว่าจะถูกใช้บริการทางเพศด้วยเหตุผลใดก็ตาม และจากการสัมภาษณ์ ก็พบว่า มีเด็ก 18 คน จาก 20 คน ยืนยันว่าจะเลิกทำอาชีพนี้ ถ้าพวกเขามีทางเลือกอื่นในการหารายได้เพื่อดำรงชีพ”
นอกจากนี้ยังพบว่า “ผู้ให้บริการส่วนหน้า” หรือ “เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าไปปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับเด็ก” มีปัญหาในสร้างความไว้ใจเพื่อทำงานกับเด็กที่ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย ส่งผลให้มีปัญหาต่อการเข้าถึงชุมชนของเด็ก ทำให้ไม่สามารถให้คำปรึกษากับเด็กผู้ชายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนหน้า อาจเผลอไปมีอคติกับเด็กกลุ่มนี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะทัศนคติที่คิดว่า “เด็กผู้ชายที่ให้บริการแลกเปลี่ยนทางเพศ ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ” ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้เด็กชายอาจจะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ต้องการการอบรมเพิ่มเพื่อให้ทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกเหนือจากข้อเท็จจริงเชิงบริบทสังคมที่เล่ามาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมาย เด็กที่เป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศยังสามารถถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหา “มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี” ทั้งที่ควรจัดอยู่ในกลุ่มผู้เสียหาย และในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เป็นข้อห้ามในการล่อลวงเด็กทางออนไลน์ หรือ การ LIVE Streaming รวมทั้งยังเสนอให้ยกเลิกการจำกัดอายุความสำหรับความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กที่มีอายุความเพียง 15 ปี เพราะมีหลายกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ล่าช้ากว่าความเป็นจริงไปมาก แต่ข้อดีที่กฎหมายไทยในปัจจุบันมี คือการไม่แบ่งแยกเพศของเยาวชนที่ถูกกระทำ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายก็มีผลทางกฎหมายแบบเดียวกัน ได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ซึ่งเป็นองค์กรร่วมในการผลิตรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า รายงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่ทำงานในส่วนหน้า และเป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศที่เป็น “เด็กผู้ชาย” ซึ่งมีความเปราะบางต่างจากเพศหญิงที่มักจะถูกพูดถึงมากกว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าใจปัญหานี้ เพราะเลือกหยิบยกกรณีศึกษาที่เป็นเด็กผู้ชายและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบมากในการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน นักวิจัยด้านกฎหมายจะสามารถออกแบบกระบวนการแก้ไขที่สามารถตอบโจทย์ของปัญหาที่แท้จริงได้มากขึ้น
กระบวนการยุติธรรม ต้องรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่งก็คือภัยคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในโลกยุคโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กมีมากขึ้น เพราะเด็กอาจปรับตัวได้ไม่ดีพอกับโลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีในยุคโควิด ทั้งยังมีปัญหา ความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ และความรุนแรงในครอบครัวร่วมด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกภารกิจของ TIJ ที่กำลังต่อสู้เกี่ยวกับ "การต่อต้านความรุนแรงต่อเด็ก" เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างทางกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีสิทธิและมีส่วนร่วมทางสังคม
นอกจากนี้ ยังมีข้อคิดเห็นจากนักวิจัยท่านอื่นด้วย ด้าน Maia Mounsher จากมูลนิธิเออเบิร์น ไลท์ จ.เชียงใหม่ ได้ยกตัวอย่าง เด็กผู้ชายคนหนึ่งเป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จนต้องออกไปอยู่บ้านพักเด็กกำพร้า ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี ถูกเพื่อนชักจูงไปดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด เมื่อถูกจับได้ก็โดนตำหนิอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ดูแลบ้านพัก ทำให้เด็กคนนี้ตัดสินใจหนีออกไปใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่รอนคนเดียวในเมือง ต้องดำรงชีพและหาเงินมาซื้อยาเสพติดด้วยการแลกเปลี่ยนบริการทางเพศ ซึ่งจะเห็นว่าแท้จริงแล้ว ผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะป้องกันเด็กคนนี้ไว้ได้หลายครั้ง ทั้งผู้ปกครอง ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่บ้านพัก แต่พวกเขาไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม และไม่เข้าใจความต้องการของเด็ก
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงาน เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ และอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า จากมายาคติทางเพศในอดีต เด็กผู้ชายมักถูกมองด้วยความห่วงใยน้อยกว่าเด็กผู้หญิงในปัญหาทางเพศมาโดยตลอด แม้ว่าคดีทางเพศที่เด็กผู้ชายตกเป็นเหยื่อในประเทศไทย จะมีจำนวนน้อยกว่าคดีของเด็กผู้หญิงมาก แต่ถ้ามองในแง่ความรุนแรง กรณีของเด็กผู้ชายมีความรุนแรงมากกว่า จึงเห็นด้วยต่อการเสนอให้กฎหมายต้องถูกปรับปรุง เพราะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองทุกเพศสภาพอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายต้องเน้นการปกป้องผู้เสียหายมากกว่าการลงโทษทางอาญา ต้องปรับทัศนคติของผู้ปฏิบัติการส่วนหน้าและผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้ปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
มากกว่านั้นทาง ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นผู้ทำคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กมากว่า 15 ปี ได้เล่าว่า ถ้านับเฉพาะคดีของ DSI พบว่าตัวเลขเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และยังพบว่ามีสิ่งที่ตามมาคู่กันเสมอคือการขายภาพลามกอนาจารของเด็กผู้ชายผ่านโลกออนไลน์ด้วย เด็กผู้ชายมักจะมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องหรือบอกต่อสิ่งที่เขาถูกกระทำต่อคนใกล้ชิดได้ยากกว่าเด็กผู้หญิงเพราะอับอาย และเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ มีโอกาสใช้ยาเสพติดสูง
ส่งต่อข้อเสนอแนะสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…หวังแก้ปัญหาค้าบริการเด็กชายไทย
ในรายงานวิจัยดังกล่าว ได้ระบุข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอแนะด้านกรอบกฎหมายไทยไว้ ดังนี้
- ดำเนินการคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ในการค้าประเวณี ซึ่งอาจถูกปล่อยให้เสี่ยงต่อการระบุว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยการกำหนดให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมการกระทำเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเป็นผู้กระทำผิด
- กำหนดโทษการเข้าร่วมการแสดงลามกอนาจาร ไม่ว่าจะกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม และ
การเข้าถึงสื่อการล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยเจตนา
- จัดทำขั้นตอนการเก็บและรักษาข้อมูล ตามหลักการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพื่อให้สามารถเก็บรักษา หลักฐานทางดิจิทัลและร่วมมือกับหน่วยงานบังคับ ใช้กฎหมายซึ่งบังคับใช้กับ ISP บริษัทโทรศัพท์มือถือ บริษัทโซเชียลมีเดีย บริษัทจัดเก็บข้อมูลบนพื้นที่เก็บ ข้อมูลออนไลน์ (Cloud Storage) และอุตสาหกรรม เทคโนโลยีโดยรวม
- แก้ไขกฎหมายแพ่งเพื่อกำหนดอายุขั้นต่ำของการสมรสที่ 18 ปี สำหรับเด็กทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น
- ยกเลิกอายุความสำหรับความผิดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
- ให้แนวทางและการฝึกอบรมแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการช่วย เหลือผู้เสียหายที่เป็นเด็กจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
- จัดทำข้อบัญญัติกฎหมายและนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่า เด็กผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศทุกคนมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเต็มที่
แน่นอนว่าปัญหานี้คงจะไม่สามารถแก้ได้โดยเร็ววันโดยหน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง หรือ คนใดเพียงคนหนึ่งและมุ่งหวังว่า ผลจากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ และทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน สังคม ประชาชน ต่อยอดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
รายงานนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สำหรับการรวบรวมข้อมูล ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้ง (Rainbow Sky Association of Thailand), Urban Light Foundation Thailand, SISTERS Foundation, CAREMAT และ V-power ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/thai-global-boys-initiative-thailand