คลัสเตอร์โรงงาน อ.เขาย้อยติดโควิด 76 ราย

2021-05-19 18:45:39

คลัสเตอร์โรงงาน อ.เขาย้อยติดโควิด 76 ราย

Advertisement

ผวจ.เพชรบุรีแถลงพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในโรงงาน อ.เขาย้อย 76 ราย สั่งปิดสายการผลิตที่เกี่ยวข้องแล้ว

เมื่อเวลา 16.30น. วันที่ 19พ.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี นพ.เพชรฤกษ์ สสจ.เพชรบุรี และพญ.รพีพรรณ โพธิ์ทอง ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี ร่วมกันแถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ประจำวัน

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อขอแถลง 2 ส่วน คือ สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  (โควิด-19)  วันที่ 19 พ.ค. 2564 จ.เพชรบุรี (เฉพาะ ศบค.รับรอง) ผู้ติดเชื้อใหม่ 76 ราย เป็นผู้ป่วยที่ผ่านการ Swab และตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการโรงงาน ที่ อ.เขาย้อย ทั้งสิ้น เสียชีวิตสะสม 4 ราย ยังรักษาอยู่ 240 รายรักษาหายวันนี้ 16 ราย รวมรักษาหายจำนวน 477 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 721ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไป 563 ราย และผู้ติดเชื้อในโรงงาน 158ราย ที่มีการแพร่ระบาดในส่วนของสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิค

นายภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยในที่ประชุมได้มีมติในการที่จะวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยที่จะมีการเปิดโรงพยาบาลสนาม และทำการซีลพื้นที่ภายในโรงงานขึ้น ในส่วนนี้จะมีทาง สำนักควบคุมโรคที่ 5 เป็นผู้ให้รายละเอียด


ด้าน พญ.รพีพรรณ โพธิ์ทอง ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ที่โรงงานในพื้นที่ อ.เขาย้อย นั้น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี มาร่วมสนับสนุนกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาด โดยได้ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่ในช่วงของปลายสัปดาห์ที่แล้วเพื่อจะได้เร่งหาขนาดของปัญหาและการควบคุมโรค ในภาพรวมตอนนี้ เรามีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 270 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และมีคนไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งพบว่าเป็นวัยแรงงาน กระจายอยู่ใน อำเภอต่าง ๆ ของ จ.เพชรบุรี สิ่งที่เราได้ดำเนินการไป พบว่าต้นตอของการระบาดอยู่ที่โรง 1 ซึ่งเราได้เข้าไปตรวจเชิงรุกแล้ว พบว่ามีอัตราการป่วยอยู่ที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนคนงานในโรงงานนี้ เราจึงได้เสนอมาตรการที่จะ ซีล จำกัดขอบเขตของโรงงานนี้ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเราทั้งหมด ตั้งแต่การดูแลรักษา ซึ่งหากเราเริ่มดำเนินการตามมาตรการนี้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ภายใน 28 วัน เราน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด

พญ.รพีพรรณ กล่าวต่อว่า ในส่วนของความห่วงใยของพี่น้องประชาชนในโรงงานอื่น ๆ และในชุมชนที่อาจจะมีความเสี่ยง จากที่มีแรงงานจากโรงงานแห่งนี้ อาศัยอยู่ในหอพัก ต่าง ๆ ทางเราไม่ได้ละเลยจะมีการดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจหาเชิงรุกในพื้นที่ตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ได้คำตอบว่าเราจะควบคุมในลักษณะใดต่อไป

ด้าน นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ สสจ.เพชรบุรี กล่าวว่า ในประเด็นที่พี่น้องประชาชนกังวลใจและสอบถามกันมามากเกี่ยวกับการโรงงานปิดหรือไม่ปิด และรับผิดชอบกรณีนี้มากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นขอเรียนว่าทีมงานได้ลงพื้นที่ และวันนี้ได้เริ่มปิดของสายงานการผลิตที่เกี่ยวข้อง สายที่ 9 (โรง9)และสถานประกอบการได้จัดตั้งใช้พื้นที่กักกันและพื้นที่สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นชาวต่างด้าวได้แยกกักเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยมีการเตรียมเตียงไว้ประมาณ 1,200 เตียง เพื่อจะดูแลกักไม่ให้ออกมานอกชุมชนเขตเขาย้อย ส่วนกลุ่มที่อยู่หอพัก คณะกรรมการจะได้มีการตรวจเช็คว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด รวมทั้งพี่น้องชาวเพชรบุรีที่ทำงานอยู่ในโรงงานดังกล่าวจะต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่าช่วงเช้าวันเดียวกันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีนำคณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่ตรวจแหย่จมูกตรวจโควิด-19 (แบบ Swab หรือ PCR) และติดตามสอบสวนโรคในบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดในโรงงานเขาย้อย จ.เพชรบุรี

นายอุดมศักดิ์ พรหมดวง ผู้จัดการโรงงานได้เปิดเผยว่าทางโรงงานมีมาตรการที่เข้มงวดมากเริ่มตั้งแต่พนักงานเดินเข้ามาทำงาน รวมถึงรถรับส่ง มีการควบคุมเข้มทุกมาตรการ วัดอุณหภูมิ ผ้าปิดปาก เฟสชิว แอลกอฮอล์ทำความสะอาด และทุกที่ได้ดำเนินการฉีดยาฆ่าเชื้อ พร้อมตรวจเช็คสุขภาพพนักงาน ตลอดจนจัดอบรมชี้แจงโรคโควิด 19และประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาให้คำปรึกษาและตรวจสอบ

ผู้จัดการโรงงานได้กล่าวถึงแรงงานในส่วนของพนักงานที่มีการติดเชื้อแล้วนั้นว่า ทางโรงงานได้จัดอาคารสถานที่พักไว้สำหรับผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะ โดยนำผู้ป่วยแรงงานต่างด้าวที่ได้รับเชื้อเข้ามาอยู่ในโรงงาน อยู่ในสถานที่ที่ได้จัดพื้นที่ไว้ แต่ถ้าเป็นคนไทยจะอยู่ในกระบวนการของทางโรงพยาบาลหน่วยงานภาครัฐ และสำหรับในส่วนของกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่สัมผัสหรือว่าผู้มีความเสี่ยงสูง ก็จะมีการแยกพื้นที่ไว้ต่างหาก คนละห้อง คนละชั้น ซึ่งก็จะแยกกันอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนพร้อมทั้งได้ยืนยันมาตรการเข้ม 35 ข้อ ในการป้องกันโรคโควิด 19ที่ให้พนักงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดป้องกันการแพร่ระบาด

ด้านเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพชรบุรี ร้องขอ คกก.โรคติดต่อ ยกระดับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19จากพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมเขาย้อย โดยนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ประธานชมรมองค์การบริหารส่วนตำบลเพชรบุรี นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ ประธานคณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลจังหวัดเพชรบุรีและ นางอรอนงค์ ศิริชัย นายกเทศมนตรีตำบลเขาย้อย เข้ายื่นหนังสือต่อ ผวจ.เพชรบุรี กรณีปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมอำเภอเขาย้อย จ.เพชรบุรี

เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแรงงานจำนวนมาก และอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง และเกรงว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงขอเสนอแนวทางเพื่อให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้พิจารณาแก้ไขปัญหา ร่วมกับเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น และฝ่ายปกครองท้องที่ในจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. เห็นควรพิจารณาให้ปิดโรงงานอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมให้ผู้ประกอบการจัดทำพื้นที่กักตัวกลุ่มเสี่ยง ภายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และในช่วงระยะเวลาการกักตัวกลุ่มเสี่ยง ให้ประกันสังคม พิจารณาการช่วยเหลือด้านค่าจ้างแรงงานต่อผู้หยุดงาน2. เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พร้อมรายงานผลข้อมูลสถานการณ์ที่รวดเร็วต่อสังคม3. ยกระดับมาตรการ การกักตัวระดับชุมชน โดยให้ฝ่ายปกครองท้องที่ เป็นหน่วยงานปฏิบัติ และองค์กรท้องถิ่น จัดทำข้อมูลกลุ่มผู้ถูกกักตัว สนับสนุนการดำรงชีพ ในด้าน อาหารและของใช้ในระดับครัวเรือน