"หมอเก่ง" ชี้งบ สธ.ถูกหั่นมากกว่างบป้องกันประเทศ

2021-05-31 22:25:31

"หมอเก่ง" ชี้งบ สธ.ถูกหั่นมากกว่างบป้องกันประเทศ

Advertisement

"หมอเก่ง" ชี้งบ สธ.ถูกหั่นมากกว่างบป้องกันประเทศ แถม กห.ได้งบลงทุนมากกว่า ติงโครงการราชทัณฑ์ปันสุข แต่นักโทษติดโควิดอื้อ

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า งบประมาณสาธารณสุขถูกลดงบกว่า 10.8% แต่งบของการป้องกันประเทศถูกตัดเพียง 4.9% และงบเพื่อรักษาความมั่นคงภายใน ถูกตัด 7.2% ในภาวะปัจจุบันกระทรวงที่ต้องได้รับงบประมาณเต็มที่เพื่อแก้วิกฤตชาติ คือ กระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงกลาโหมที่สำคัญในช่วงปัจจุบันน้อยที่สุด พบว่าได้รับงบประมาณส่วนของการลงทุน 5.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบลงทุนเพียง 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และงบส่วนดังกล่าวเพื่อจัดสรรในส่วนของค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รวม 1 หมื่นล้านบาท

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่าสำหรับรายละเอียดของงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีค่าครุภัณฑ์การแพทย์ที่มีราคาต่อหน่วย ต่ำกว่า 1 ล้านบาท จำนวน 934 รายการโดยไม่แจ้งรายละเอียด ขณะที่ครุภัณฑ์ที่มีราคาเกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 558 รายการ ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท อาทิ เครื่องอัลตร้าซาวน์ เครื่องสแกนช่องปาก เครื่องเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่, เครื่องสลายนิ่ว ถือว่าจำเป็น แต่ระยะเวลาทำโครงการ รวม 11 ปี ตั้งแต่ปี 2560 - 2570 วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการเพื่อตั้งไว้สำหรับแก้ปัญหาโควิด มีระยะเวลา 1 ปี และตั้งงบไว้ 8,400 ล้านบาท แสดงว่าผู้ทำโครงการคิดว่าปัญหาโควิด-19 จะจัดการให้เสร็จภายใน 1 ปีใช่หรือไม่

“ในงบคุรุภัณฑ์ ไม่เกิน 1 ล้านบาทที่มี 558 ล้านบาท พบมีสิ่งที่ขัดตา คือ มีสิ่งที่ซื้อซ้ำ อาทิ กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาดิจิทอล 50 เครื่อง กระจายในจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้มีมูลค่า 1.2 ล้านบาทต่อเครื่อง ผมโทรศัพท์ปรึกษาหมอที่จักษุแพทย์ ราชวิทยาลัยได้คำตอบคือ คัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นตา แต่ต้องใช้จักษุแพทย์และความร่วมมือระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างหมอ และพยาบาลจำนวนมาก แต่ประธานจักษุแพทย์ราชวิทยาลัยไม่ทราบเรื่อง นอกจากนั้น ยังพบว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดงบเพื่อทำห้องแล็บตรวจโควิด-19 ทั้งนี้ตั้งงบทั้งหมด 68 ล้านบาทระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2569 ซึ่งเรื่องดังกล่าวควรเร่งทำให้เสร็จ แต่งบประมาณในปีแรก จัดสรรให้เพียง 16 ล้านบาท” นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย อภิปรายด้วยว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อควบคุมโรคระบาดในเรือนจำ โดยปี 2565 จัดงบให้ราชทัณฑ์ จำนวน 24 ล้านบาท แต่ล่าสุดในราชทัณฑ์ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 25,000 คน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เกิดการเรียนรู้ปัญหาที่เกิดและแก้ไขในการจัดงบประมาณปีต่อไป

“ในส่วนของกองทัพ พบว่าจัดงบผูกพัน อาทิ งบกองทัพอากาศ พบจัดสรร 22 รายการ จำนวน 8,000 ล้านบาท, กองทัพเรือ จัดสรร 11 โครงการ กว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างโครงการใหม่ 826 ล้านบาท กองทัพบก ผูกพัน 24 โครงการ เกือบหมื่นล้าน ขอผูกพันใหม่ อีก 4 โครงการ เกือบ 900 ล้านบาท ผมไม่เจองบเพื่อวัคซีนที่ไม่ควรมองแค่เข็มสองเท่านั้น หากจะบอกว่าอยู่ในงบกลางหรืองบเงินกู้ แบบนี้ไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ให้ราชการมาบริหาร การจัดงบไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดังนั้นด้วยเหตุผลผมไม่สามารถลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบ วาระแรกได้” นพ.วาโย กล่าว