อย่าทำศาสนาหมองมัว "พระพยอม" ฟาดยับ "ผู้แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์" สวมสังฆาฏิสีรุ้ง แสดงออกเรื่องเพศ
เนื่องจากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพพร้อมข้อความแสดงออกถึงการเปิดกว้างทางเพศ ซึ่งเนื้อหานั้นมีนัยถึงการที่ทุกคนเป็นเพศอะไรนั้น ย่อมมีสิทธิเป็นชาวพุทธที่สามารถบวชได้ทุกคน โดยมีรูปภาพประกอบเป็นชายคนหนึ่งแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ที่แต่งจีวรตามปกติ แต่สิ่งที่ทำให้สะดุดตาชาวเน็ตคือมีผ้าสังฆาฏิพาดไหล่เป็นสีรุ้ง กับเรื่องนี้นั้น "พระพยอม" พระราชาคณะ นักเทศน์ และนักสังคมสงเคราะห์ชาวนนทบุรี ได้ให้ข้อคิดเตือนสติเอาไว้ว่า "ไม่เหมาะสม อย่ามาทำให้ศาสนามัวหมอง"
โดย พระพยอม ได้ออกมาเผยว่า เครื่องแบบของบุคลากรบางกลุ่มอย่างเช่นเครื่องแบบทหาร เครื่องแบบตำรวจ เครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบพระใครจะมายุ่งจุ้นจ้านมาเติมเสริมใส่ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่น่าจะต้องอธิบาย ไม่ควรมายุ่งจะดีกว่าถ้าตัวเองชอบก็ไปเครื่องแบบของตัวเองเสียหรือแยกนิกายแยกศาสนาไปเลยก็ได้ การที่มีสีสันแวววาว มันเป็นของคนชอบสวยงาม
... ถ้าคนติดสวยติดงาม ถ้าจะบวชเป็นพระต้องการละเรื่องความสวยงาม ชอบพูดว่าคนเหมือนกันนี่หว่าทำไมบางคนถึงบวชได้ ทำไมตัวเองบวชไม่ได้คนมันไม่เหมือนกัน มีหลายประเภทใฝ่ดี ใฝ่สูง ไฝ่งาม ใฝ่ต่ำ ความประพฤติไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้น อย่ามาพูดว่ากีดกันต้องพูดว่าโอกาสคัดสรรมันเป็นของพุทธบริษัท ถ้าไม่คัดสรรเลยพุทธศาสนาคงไม่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นอย่าให้เขาล้มเลิกโอกาสในการคัดสรร
... ถ้าคุณอยากตั้งบริษัทแล้วรับคนไม่เลือก ให้สิทธิเท่ากันหมดคุณลองไปตั้งดูสิถ้าไม่เละให้มันรู้ไป คุณจะไปคุมได้ยังไงขนาดคัดสรรแล้วยังมีคนเล็ดรอดมาทำให้ศาสนามัวหมองก็ยังมี อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำส่วนคนที่ชอบวิจารณ์ข้อมูลไม่แน่น มันก็เหมือนกับฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียด ถ้าจะวิจารณ์อะไรต้องหาข้อมูลก่อนให้แน่นอนหรือถามผู้รู้ในด้านนั้นๆ ไม่งั้นจะได้ข้อมูลไม่ถูกต้องแล้วมาวิจารณ์กันมั่ว"
ทั้งนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า “ทุกคนต้องบวชได้ การบวชขึ้นอยู่กับศรัทธาไม่ใช่อวัยวะเพศ LGBTIQANsไม่ใช่กรรม
การบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนามักมีการเปิดโอกาสให้เพศชายได้บวช แล้วกีดกันเพศอื่น ๆ เช่น กีดกันเพศหญิง กีดกันเลสเบี้ยน กีดกันเกย์ กีดกันกะเทย กีดกันบัณเฑาะก์ กีดกัน intersex ไม่ให้ได้บวชเหมือนเพศชาย
ในประวัติศาสต์ เพศหญิงไม่เคยถูกห้ามบวช การบวชหญิงได้รับพุทธานุญาตตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ต่อมาก็มีการห้ามบวชภิกษุณีเกิดขึ้นในภายหลังโดยนำเรื่องการขาดการบวชอย่างต่อเนื่องมาอ้าง
การบวชบัณเฑาะก์ก็มีในยุคแรก แต่ต่อมาก็ถูกห้ามบวชเพราะมีกลุ่มสงฆ์ไปขอให้พระพุทธเจ้างดการบวชให้คนกลุ่มนี้เพียงเพราะคนกลุ่มนี้ทำผิดวินัย การห้ามบวชคนเพียงเพราะมีอวัยวะเพศที่แตกต่างจึงเป็นการเหมารวม ไม่ควรมีใครถูกเหมารวมโดยที่ยังมิได้ทำสิ่งใดผิด
การบวชจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศแต่การบวชขึ้นอยู่กับศรัทธา อย่านำข้อจำกัดด้านเพศมาเป็นเหตุของการห้ามบวช (ขอบคุณเนื้อหาจาก Shine Wara Dhammo ) ***แคมแปญ ทุกคนต้องบวชได้ ไม่ได้หมายความว่า ใครจะทำอะไรก็ได้ หรือ กะเทยจะได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น เช่นกะเทยบวชแล้วจะแหกปาก แต่งตัวยังงัยก็ได้ แต่ทุกคนต้องอยู่ในกฏเดียวกัน ใครทำผิดระเบียบก็ว่าไปตามผิดรายบุคคลไป
...อย่าได้เหมารวมว่า ถ้า LGBTIQANs+บวชแล้วจะทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย... แต่ประเด็นคือ ทุกคนต้องบวชได้ เพราะเป็นสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงศาสนาได้อย่างเท่าเทียม
***และอีกอย่างคือ หากความเชื่อชาวพุทธเชื่อว่า การเกาะชายผ้าเหลืองคือการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ยิ่งใหญ่สูงสุด เพราะหมายถึงการได้ขึ้นสวรรค์ แต่การที่ไม่อนุญาตให้ LGBTIQANs+ บวชนั้น ก็แสดงว่าศาสนาพุทธกำลัง จำกัด แบ่งแยก กีดกัด เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คนเข้าถึงศรัทธา ความเชื่อ ในการที่จะทดแทนบุญคุณบิดามารดาให้ได้ขึ้นสวรรค์เทียบเท่ากับเพศชาย ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ใช่หรือไม่?
*** หลายคนบอกว่า "พวกเธอเป็นเกย์กะเทยก็ไปทดแทนบุญด้วยวิธีอื่นสิ" คำถามคือ ทำไม ต้องแยกเพศ ในการเข้าถึงศรัทธา ของศาสนาด้วย สรุป ทุกวันนี้ เราเข้าถึงศาสนาด้วยหัวใจแห่งศรัทธา หรือใช้อวัยวะเพศ ในการเข้าถึงศรัทธาแห่งศาสนากันแน่
#PrideMonth2021 #HappyPrideMonth #ShareWithPride #เดือนแห่งความภูมิใจ กับ #ประเทศสมญานามสวรรค์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ?
***รับฟังทุกความคิดเห็น หมายเหตุ : ภาพนี้ถ่ายทำเพื่อรณรงค์สร้างการเรียนรู้ร่วมกับสังคมเท่านั้น
ซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้รายนี้โพสต์ภาพพร้อมข้อคิดเห็นของเขาลงไป ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย บ้างก็เห็นด้วย แต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นอีกด้าน