"สมศักดิ์"ลุยสุโขทัยติดตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ดูชาวบ้านเลี้ยงวัวโคบาลประชารัฐ เตรียมแจกน้ำเชื้อวัวทาจิมะหวังผลักดันเกษตรกรยกระดับโคขุนเป็นเนื้อโกเบทะเลหลวง พร้อมสนับสนุนปลูกชาพื้นที่ราบ สร้างรายได้ในระยะยาว
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่จ.สุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน ตามนโยบายโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน จ.สุโขทัย กำแพงเพชรและตาก โดยมี นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ. สุโขทัย นายสุชาติ ทีคะสุข รอง ผวจ.สุโขทัย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส. สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ข้าราชการและเจ้าหน้าภาคส่วนต่างๆในจ.สุโขทัย ร่วมงาน
ในช่วงแรก นายสมศักดิ์ ได้เยี่ยมชมพ่อวัวพันธุ์ทาจิมะ ซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่มีราคาแพงที่สุดซึ่งคนจะรู้จักกันในชื่อเนื้อโกเบ และได้ตรวจเยี่ยมติดตาม การเลี้ยงวัวของชาวบ้านตามโครงการโคบาลประชารัฐ(โคล้านตัว) นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนลงพื้นที่มาติดตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและกำชับให้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยโครงการโคบาลประชารัฐ เป็นโครงการที่เราดำเนินการไปแล้ว ได้มีการให้วัวกับเกษตรกรยืมครอบครัวละ 2 ตัวตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ซึ่งขณะนี้เช่น นายสุเทพ พรทวี ได้ลูกวัวออกมา 2 ตัวแล้ว หากดำเนินการเรื่อยๆจะสร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ตนเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตนเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่นเคยเห็นวัวพันธุ์ทาจิมะที่ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อขุนเอามาขายเนื้อกิโลกรัมละหลายพันบาท เมื่อกลับมาตนจึงมาคุยกับกรมปศุสัตว์ อยากจะนำมาเลี้ยงบ้าง แต่หาพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ได้ แต่ก็พยายามคิดและนำมาลองเลี้ยง ทดลองที่อ.คีรีมาศ เริ่มจากการขุนวัวไทยก่อน ถือว่าได้ผลดีเป็นความรู้เบื้องต้นทั้งการเลี้ยงและการสูตรอาหาร ซึ่งขณะนี้เรามีพ่อพันธุ์วัวทาจิมะสามารถรีดน้ำเชื้อแจกเกษตรกร นำไปผสมกับวัวไทยเพื่อยกระดับคุณภาพเป็นวัวพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับบ้านเราได้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เนื้อวัวปกติราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่หากเราผสมพันธุ์ทาจิมะ กับโคไทย ทำให้เป็นเนื้อพรีเมียมราคาจะพุ่งเป็นหลักพันบาท อาจจะให้ชื่อว่าเนื้อโกเบทะเลหลวง ซึ่งขณะนี้มีการแจกน้ำเชื้อมีการผสมพันธุ์ไปหลายพื้นที่แล้ว ซึ่งเราต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกษตรกรสนใจมากขึ้น ซึ่งวัวไทยราคาจะตกตัวละประมาณ 15,000 บาท แต่เมื่อเราเลี้ยงไปเรื่อยๆให้โตขึ้นมูลจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งหากเป็นพันธุ์ผสมทาจิมะ ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก
จากนั้น นายสมศักดิ์ และคณะ ได้เดินทางไปยัง ไร่ชาวังทองแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกชาสี่ฤดู โดยไร่ชาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ทดลองปลูกนำร่อง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ศึกษาแนวทางการปลูก โดยนายสมศักดิ์ ได้ทดลองปลูกต้นชา และกล่าวว่า การปลูกชาในพื้นที่ราบ ตนได้เชิญชวนนักลงทุนมาทำให้ดู เมื่อชาวบ้านเข้าใจจะปลูกเองได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาโต 3-4 ปี ชาวบ้านก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องเข้าใจ เพราะนี่คือทางเลือก เราต้องเปลี่ยนแปลงจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ เราต้องแก้ให้ได้ทำให้ได้ การปลูกชาในที่ราบ มีข้อดีคือ สามารถใช้เครื่องจักในการเก็บเกี่ยว เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุน โดยเครื่องจักรสามารถเก็บเกี่ยวได้วันละ 10 ตัน แต่การปลูกในที่ราบสูงใช้แรงงานคนจะเก็บเกี่ยวได้เพียง 30 กิโลกรัมต่อวันต่อวัน ซึ่งต้นพันธุ์ชานี้มาจากดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ซึ่งประโยชน์ของชา เช่น ลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง บำรุงหัวใจและการไหลเวียนเลือด การปลูกทำได้ไม่ยากหากปลูกผักเป็นก็ปลูกชาได้ ปลูกต้นหนึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ถึง 20 ปี
"ข้อด้อยของไทยคือกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชและสัตว์ยังไม่พัฒนา หลายๆฝ่ายยังไม่เข้าใจ ซึ่งต้องมีการแก้กฎหมาย แก้ปัญหาให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ จากตำบล อำเภอ ไล่ไปยังระดับจังหวัดก่อนเรื่องเหล่านี้อาจจะใหม่แต่ตนเชื่อในศักยภาพ และขอให้ทุกคนช่วยกันท้าพิสูจน์ว่าเราทำได้" นายสมศักดิ์ กล่าว