อธิบดี คพ.ตรวจเหตุเพลิงไหม้ "หมิงตี้ เคมีคอล"สาเหตุเกิดจากถังเก็บสารเคมีขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 ลิตร เกิดเพลิงไหม้และระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีไอระเหยของสารสไตรีน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ กระจายออกไปโดยรอบในรัศมีประมาณ 5 กม.
เมื่อเวลา 03.10 น. วันที่ 5 ก.ค. เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอย 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยโรงงานถูกเพลิงไหม้พังถล่มเสียหายทั้งหมด บ้านเรือนประชาชนข้างเคียงได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความห่วงใยผลกระทบต่อประชาชน สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินมลพิษจากสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ทสจ.จังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เกิดเหตุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ได้แก่ สารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นตัวทำละลายและเป็นสารไวไฟในกลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Aromatic Hydrocarbons) สาเหตุเกิดจากถังเก็บสารเคมีขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 ลิตร เกิดเพลิงไหม้และระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีไอระเหยของสารสไตรีน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กระจายออกไปโดยรอบในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโรงงานซึ่งเป็นด้านท้ายลมในช่วงเช้า บริเวณแถบถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม.ทิศทางลมมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรให้เตรียมการอพยพ และโยกย้ายประชาชนในรัศมี 2 กิโลเมตรจากโรงงานไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากหากไม่สามารถควบคุมเพลิงได้อาจลุกลามไปยังถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงจนเกิดเหตุระเบิดขึ้นมาได้
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานท้องถิ่นให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ระวังและป้องกันตัวเองเพื่อผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากอาจเกิดพิษเฉียบพลัน อาทิ การระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง รวมทั้ง ไอระเหยอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เวลา 14.00 น. พบว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ และมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ ขนาดไม่น้อยกว่า 20,000 ลิตร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ข้างเคียง จึงมีความจำเป็นต้องมีการแจ้งเตือนให้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากโรงงานโดยเร่งด่วน และผลการตรวจวัดคุณภาพบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบในระยะ 500 เมตร - 9 กิโลเมตร โดยตรวจวัดระดับขีดจำกัดการติดไฟ (%LEL) ปริมาณสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) พบว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน