เช่นเดียวกับนักดนตรีที่หากอยากเก่งก็ต้อง “ฝึกซ้อม! ฝึกซ้อม! ฝึกซ้อม!” ถ้าอยากจำได้และจำดี ก็ต้องมีเทคนิคและการฝึกฝนเช่นเดียวกันครับ วันนี้ นิว 18 ขอแนะนำเทคนิคดีๆ มาบอกต่อกัน
วารสาร HEALTHbeat ของสถาบันการศึกษาระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แนะนำเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพในการจำไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ด้วย 7 วิธีดังนี้
ภาพ Roobcio / Shutterstock.com
1. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
ยิ่งเรียนสูงเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในความจำก็ยิ่งดีขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เนื่องจากการศึกษาจะช่วยให้สมองได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา และหากอยากให้ความจำดีๆ อยู่กับเรานานๆ ก็อย่าลืมหาหนังสือที่มีสาระน่ารู้มาอ่านอย่างสม่ำเสมอ หรือจะเล่นเกมลับสมองต่างๆ อย่าง จิ๊กซอว์ ปริศนาอักษรไขว้ ก็เสริมทักษะการจำได้ดีเลยครับ
2. ใช้ประสาททั้งห้าให้ครบ
การใช้ประสาทสัมผัสของเราไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัส ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ นั้นมีส่วนช่วยรักษาความจำได้เป็นอย่างดีครับ และจะยิ่งประทับลงในความทรงจำได้ดีขึ้นอีก หากมีการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เราเคยเจอในอดีตด้วยครับ
3. เชื่อมั่นในตัวเอง
ผลจากการวิจัยพบว่าความจำของมนุษย์นั้นแปรตามความเชื่อมั่น เราจะสามารถจดจำได้ดี ถ้าเชื่อมั่นว่า “เราทำได้” และคิดบวกอยู่เสมอว่า “ถึงเราจะแก่ แต่เด็กๆ ก็จำสู้ฉันไม่ได้หรอกน่า” ดังนั้นนับจากนี้ไป จงปัดความคิดประเภท “แก่แล้วจะกะโหลกกะลา” ไปให้ได้ แล้ววัยที่ล่วงเลยก็ไม่อาจทำอะไรมันสมองของคุณได้เลยครับ
4. จำแต่เรื่องใหญ่
อย่ามัวเสียเวลาไปกับการจดจำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฉันวางกุญแจบ้านเอาไว้ที่ไหน หรือวันเกิดเพื่อนร่วมงาน แล้วหันมาใส่ใจจดจำอะไรที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญกับชีวิตมากกว่านั้นกันดีกว่า โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มาทำหน้าที่เหล่านั้นแทน ไม่ว่าจะใช้กระดาษ Post It หรือใช้ Organizer ในโทรศัพท์มือถือบันทึกนัดหมายต่างๆ ไปจนถึงการกำหนดที่เก็บข้าวของให้เป็นที่ตามหลัก “5 ส” เท่านี้คุณก็จะมีสมาธิเพิ่มขึ้นอีกมากแล้วล่ะครับ
ภาพ areebarbar / Shutterstock.com
5. ทบทวนเข้าไว้
คนเราจะจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดีถ้าทบทวนซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง โดยการทบทวนจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หากคุณอ่านสิ่งที่อยากจำแบบออกเสียง และหากยังไม่แน่ใจเรื่องความถูกต้อง อย่าเกรงใจที่จะขอข้อมูลนั้นอีกครั้ง เพราะแม้อาจจะเขินอยู่บ้างที่ต้องถามซ้ำ แต่ก็ดีกว่าจำผิดใช่ไหมละครับ
6. ทิ้งช่วงช่วยจำ
การทบทวนซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง โดยทิ้งช่วงระหว่างกันอย่างพอเหมาะจะได้ผลดีกว่าการท่องรวดเดียว โดยเริ่มจากเว้นวรรคการอ่านหนังสือสัก 1 ชั่วโมงก่อนจะอ่านทบทวนอีกครั้ง ก่อนจะขยายเวลาออกไปเป็นทุก 2-3 ชั่วโมง และเป็นวันละครั้ง แล้วเมื่อถึงเวลาที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้น สมองก็จะทยอยจัดมาให้เองครับ
7. ใช้คำย่อให้เป็นประโยชน์
สมองคนเราจำเรื่องเล็กๆ ได้ดีกว่าเรื่องใหญ่ๆ การใช้คำย่อหรือทำสัญลักษณ์ที่เราเข้าใจมีส่วนช่วยให้จำอะไรได้ง่ายขึ้นมากเลยครับ ตัวอย่างเช่น การจำทางเดินคอร์ดกีตาร์ E, G, B, D และ F โดยนำอักษรตัวแรกมาทำเป็นประโยค เช่น Every good boys deserve flavor เป็นต้น
ภาพ Kang Sunghee / Shutterstock.com