อีกเพียงสัปดาห์เดียวก็จะถึงวันสิ้นปีอันเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองกันแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นเทศกาลของการส่งความสุขมอบของขวัญให้กับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย และคนที่เคารพนับถือ ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นโจทย์ยากของหลายๆ คนกับคำถามที่ว่า “แล้วเราจะซื้ออะไรเป็นของขวัญให้ (เติมชื่อได้ตามอัธยาศัย) ดีนะ?” แต่เมื่อมาถึงปีนี้ คุณไม่ต้องกังวลกับปัญหาโลกแตกนี้อีกต่อไป เพราะวันนี้ เรามี 8 วิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถปิ๊งไอเดียของขวัญให้คนรู้ใจได้ง่ายขึ้น
ภาพ nadianb / Shutterstock.com
วิธีที่ 1: เริ่มตั้งต้นค้นไอเดีย
ในเมื่อโจทย์ของเราคือการมอบของขวัญให้กับ (เติมชื่อได้ตามอัธยาศัย) ดังนั้นจุดเริ่มต้นคือการตีความข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือแวดล้อมกับคนๆ นั้นให้แปรสภาพออกมาเป็นของขวัญให้จงได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยในวิธีต่อไป
ภาพ PR Image Factory / Shutterstock.com
วิธีที่ 2: เลือกของขวัญที่เข้ากับบุคลิกภาพของผู้รับ
ของขวัญแนะนำสำหรับคนบุคลิกแบบต่างๆ
- คนรักดนตรี - ซีดีอัลบั้มเพลงดีๆ หรือเสื้อยืดลายวงโปรดของเขา เรื่อยไปจนถึงบัตรคอนเสิร์ตศิลปินดังที่กำลังจะแวะเวียนมาทัวร์ในบ้านเรา
- คนรักศิลปะ – ภาพวาด งานศิลปะ งานฝีมือประเภทต่างๆ ซึ่งเข้ากับความสนใจของเขา
- คนรักกีฬา – ของที่ระลึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเภทกีฬาที่เขาสนใจ หรือของนักกีฬาที่เขาชอบ
- คนรักสัตว์ – ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงของเขา
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถคิดนอกกรอบความสนใจของเขาได้เช่นกัน ขอเพียงคำนึงไว้ให้มั่นว่าของขวัญที่คุณจะซื้อนั้นต้องมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และน่าสนใจจริงๆ
ภาพ Elena Hramova / Shutterstock.com
วิธีที่ 3: ลองคิดถึงของทำมือ
หากยังนึกของที่เหมาะกับบุคลิกของผู้รับไม่ได้อย่างใจ ลองข้ามมายังขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธไม้ตายที่มักได้ใจผู้รับได้อยู่เสมอ ในระดับรับประกันความพอใจคือ บรรดาของทำมือที่ถ่ายทอดความตั้งใจออกมาเป็นผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ที่แม้แต่ของขวัญราคาแพงก็ไม่อาจเทียบค่าได้ และเพื่อให้ของทำมือนั้นไปถึงใจของผู้รับได้แน่นอน โดยมีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือ
- เป็นของทำมือที่เกี่ยวเนื่องหรือสื่อถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่พวกคุณเคยทำด้วยกัน
- หากเคยชักภาพร่วมเฟรมกันมามาก สมุดรวมภาพก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว
- กำไล หรือ สร้อยทำเองถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สื่อถึงความเอาใจใส่ของคุณที่มีต่อผู้รับอย่างชัดเจนว่ามีมากมายขนาดไหน
ภาพ hannahby / Shutterstock.com
วิธีที่ 4: ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นตัวหนังสือ
เพราะดังคำกล่าวที่ว่า “คุณค่าความรู้สึกเงินซื้อหาไม่ได้” การส่งการ์ดที่ถ่ายทอดความรู้สึกและความปรารถนาดีไปยังผู้รับ ผ่านจดหมาย การ์ด เอสเอ็มเอสโทรศัพท์มือถือ หรือกระทั่งข้อความทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีคุณค่าความหมายมากไม่แพ้ของขวัญชิ้นไหนๆ โดยมีข้อแม้เพียงว่าผู้รับต้องเป็นคนใกล้ตัวที่รู้จิตรู้ใจกันจริงๆ เท่านั้น
ภาพ Makistock / Shutterstock.com
วิธีที่ 5 : ตัวและหัวใจก็มีคุณค่าไม่แพ้ของขวัญกล่องโต
แม้จะมีคำกล่าวทีเล่นอยู่บ่อยครั้งจากบางคนว่า ของขวัญที่เตรียมไว้ให้คือ “ตัวกับหัวใจ” แต่สำหรับหลายสถานการณ์กับหลายคน 2 สิ่งนี้แหละที่มีคุณค่าต่อผู้รับอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้โจทย์ง่ายขึ้นอีก ดังนี้
- พาคนรู้จไปรับประทานอาหารมื้อค่ำ หรือไปท่องราตรี หรือไปดูคอนเสิร์ต หรือไปดูภาพยนตร์ที่เขาน่าจะชอบ
- ซื้อหาหรือสมัครสมาชิกรายปีนิตยสาร ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านค้าต่างๆ หรือว่าพิพิธภัณฑ์ที่ผู้รับสนใจ
- สมัครเรียนในคอร์สวิชาที่เข้ากับสิ่งที่ผู้รับสนใจ เช่น คอร์สขี่ม้าสำหรับคนรักสัตว์ คอร์สดำน้ำสำหรับคนลุยๆ
ภาพ sebra / Shutterstock.com
วิธีที่ 6 : “จ่าย” เพื่อได้ “ใจ”
วิธีนี้เหมาะสำหรับญาติสนิทมิตรสหายที่คบหากันมายาวนานเท่านั้น...นานพอที่จะรู้ว่าเขาเป็นคนดีที่อาจโชคร้ายทางการเงิน และยาวนานพอที่จะรับรู้ว่าเขากำลังมีปัญหาเรื่องการเงิน หมดปัญญาจ่ายค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ อาทิ ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ การช่วยเหลือเจือจานด้านค่าใช้จ่ายบางส่วนในช่วงเวลาอันยากลำบากก็ถือว่ามีคุณค่าต่อใจมากยิ่งกว่าของขวัญเป็นไหนๆ ในเงื่อนไขว่าต้องไม่มากเกินไปและเกินกำลังของเรา
ภาพ pinkomelet / Shutterstock.com
วิธีที่ 7 : บริจาคในนามของเขา
การทำบุญหรือบริจาคในนามของเขา นอกจากจะส่งผลบุญถึงตัวเขาแล้ว ตัวผู้ให้เองยังได้ความสบายใจในอีกทางหนึ่งด้วย
ภาพ weedezign / Shutterstock.com
วิธีที่ 8 : มอบของที่อยากได้
วิธีสุดท้ายนี้แม้จะดูเป็นวิธีที่กำปั้นทุบดินไปซักหน่อย แต่ก็ถือเป็นวิธีที่รับประกันความพอใจได้แน่นอน เพียงแต่อาจเพิ่มความท้าทายหรือเร้าใจอีกนิดด้วยการย้อนคิดว่าคนรู้ใจที่คุณอยากให้ของขวัญนั้นเคยเอ่ยปากหรือแวะเวียนไปชื่นชมสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ ถ้ามี...โปรเจ็กต์นี้ก็ปิดจ็อบได้ไม่ยากแล้ว