ฉางชุน, 16 ส.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีของจีนเผยแพร่ผลการศึกษาหลุมศพคู่รัก ซึ่งถูกฝังอยู่ในท่วงท่าสวมกอดกันและกัน และมีความเก่าแก่ย้อนกลับถึงยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี 386-534) หรือมากกว่า 1,600 ปีก่อน
หลุมศพดังกล่าวถูกขุดพบที่เมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เมื่อปี 2020 โดยคู่รักนอนอยู่ในโลงเดียวกัน แขนของฝ่ายชายโอบกอดเอวคู่รัก ส่วนฝ่ายหญิงซบอกศีรษะแนบไหล่อีกฝ่าย และนิ้วนางข้างซ้ายของเธอสวมแหวนเงินอยู่ด้วย
ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกเพิ่มเติมพบกระดูกแขนขวาของฝ่ายชายหักและติดเชื้อโดยไม่ได้รับการรักษาให้หายดี ขณะกระดูกของฝ่ายหญิงมีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าทั้งสองอาจเสียชีวิตจากการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย
ทีมนักวิจัยระบุว่าแม้ก่อนหน้านี้มีการค้นพบหลุมศพคู่รักสวมกอดกันชั่วนิรันดร์จากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือจำนวนมากในจีน แต่การค้นพบหลุมศพคู่รักกอดกันในสภาพสมบูรณ์ดีเช่นนี้นับว่าหายากอย่างมาก
หลุมศพเหล่านี้ช่วยตีความการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นความตายและทัศนคติต่อความรักในยุคราชวงศ์เว่ยเหนือได้ดียิ่งขึ้น โดยเวลานั้นมีการอยู่ร่วมกันของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มและการแพร่กระจายพื้นฐานสังคมพหุนิยม
ภูมิภาคต้าถงยุคโบราณเคยเป็นเบ้าหลอมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์ุ พร้อมความนิยมเทิดทูนความรักที่ยืนยาว แหวนบนนิ้วนางข้างซ้ายของฝ่ายหญิงจึงเป็นเครื่องหมายของความรักหรือการแต่งงานมากกว่าเป็นเครื่องประดับในยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ
หลุมศพคู่รักกอดกันมีประวัติศาสตร์ทั่วโลกยาวนานกว่า 6,000 ปี โดยมีการค้นพบหลุมศพคู่รักแห่งวาลดาโร (Lovers of Valdaro) ในอิตาลี และโครงกระดูกกอดแห่งอะเลโพทรีพา (Embracing Skeletons of Alepotrypa) ในกรีซ
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจากในจีนและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักวิจัยจากสถาบันโบราณคดีต้าถง มหาวิทยาลัยจี๋หลิน และมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ได้ร่วมวิจัยและศึกษาหลุมศพที่ขุดพบในซานซี รวมถึงเผยแพร่บทความที่เกี่ยวข้องในวารสารอินเตอร์เนชันแนล เจอร์นัล ออฟ ออสทีโออาร์คีอาโลจี (International Journal of Osteoarchaeology)